การสูญเสียการได้ยิน
การป้องกันเสียงดังให้มีประสิทธิภาพนั้น ขึ้นอยู่กับว่านายจ้างให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพหู และการได้ยินของลูกจ้างมากน้อยแค่ไหน การสัมผัสเสียงดังเกินมาตรฐานเป็นระยะเวลานานๆ ย่อมส่งผลเสียให้ลูกจ้างเป็นโรคสูญเสียการได้ยินได้ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร จากสาเหตุดังต่อไปนี้
- ชนิดของเสียงดัง – ชนิดต่อเนื่อง และไม่ต่อเนื่อง เสียงกระแทก เสียงที่มีความถี่สูงและต่ำ
- ความเข้มของเสียง – ระดับความดังมาก หรือสูงเกินกว่าระดับที่ร่างกายไม่ควรสัมผัสเกิน
- สภาพแวดล้อม – พื้นที่ปิด โล่ง การสะท้อนเสียงของพื้นผิว
- ระยะทางระหว่างหู และแหล่งกำเนิดเสียง – ห่างไกลมากน้อยเพียงใด
- ท่าทางในกาทำงาน –ที่ทำให้เสียงดังเข้ามาใกล้หูมากที่สุด
- อายุ – เด็กเล็กจะมีโอกาสสูงมากกว่าผู้ใหญ่ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงดัง
- โรคประจำตัว ภูมิคุ้มกันส่วนบุคคล
- การสัมผัสเสียงดังจากแหล่งอื่นๆไม่เฉพาะในทีทำงาน เช่น บ้าน กิจกรรมต่าง และ สถานพักผ่อนต่างๆ
การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว (Temporary Hearing Loss)
เกิดจากการได้ยินเสียงดังที่สูงเกินกว่าค่าที่มาตรฐานกำหนดไว้เช่น เสียงปืน เสียงกระแทกเสียง เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ โดยสาเหตุที่สูญเสียการได้ยินชั่วคราว เกิดจากที่เซลล์ขนที่อยู่ในหูชั้นในเกิดการงอ ล้ม แล้วไม่คืนสภาพปกติ อันเกิดจากเสียงดังกล่าว หรือสารเคมีที่อยู่ในหูเกิดการเปลี่ยนสภาพไป ต้องใช้ระยะเวลาในการคืนกลับสู่ภาวะปกติ อาจใช้เวลาหลายวันหรือหลายชั่วโมง หรือ 1-2 วัน
การสูญเสียการได้ยินแบบถาวร (Permanent Hearing Loss)
เกิดจากการสัมผัสเสียงที่ดังเกินกว่ามาตรฐานในระยะเวลานานๆ โดยปกติแล้วมักพบในผู้ทำงานในอุตสาหกรรม โดยสาเหตุเกิดจากการที่เซลล์ขน เซลล์ประสาทเกิดการฉีกขาดล้มแล้วไม่ลุก ถูกทำลาย หรือเส้นประสาทที่ส่งสัญญาณเสียงไปยังสมองถูกทำลาย ปัจจุบันยังมีผลสำรวจที่น่าสันนิษฐานอีกว่า สารเคมีบางประเภทเช่น สารหนู ปรอท และคาร์บอนไดซัลไฟด์ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ยังรอการพิสูจน์
การควบคุมที่ใช้กันส่วนใหญ่ คือ การใช้อุปกรณ์คุ้มครองอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment)ที่ถือเป็นทางเลือกสุดท้ายในการป้องกัน ถ้าหมดหนทางในการป้องกันที่แหล่งกำเนิด ทางผ่าน หรือการบริหารจัดการไม่ได้แล้ว อุปกรณ์ลดเสียงที่รู้จักกันดี คือ
ปลั๊กอุดหู (Earplugs)
รูหูของเรามีความยาวประมาณ 1 ¼นิ้ว ส่วนเอียร์ปลั๊กมีขนาดตั้งแต่ ½นิ้ว ถึง ¾ นิ้วนอก จากนี้แล้ว ปลั๊กลดเสียงแบ่งออกเป็นประเภทที่ใช้แล้วทิ้ง และประเภทที่สามารถนำกับมาใช้ใหม่ได้ และป้องกันเสียงที่มีความถี่ต่ำได้ดี
- ประเภทใช้แล้วทิ้ง (Disposable earplugs)
ส่วนใหญ่ทำด้วยโพลียูรีเทนโฟมและพีวีซีโฟม ทั้งสองค่าการลดเสียงประมาณ 28-33 เดซิเบล ทั้งสองชนิดมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน แต่พีวีซีโฟมจะมีข้อดีกว่าตรงที่
– เมื่อสอดเข้าไปในรูหูแล้ว แรงดันในหูจะน้อยกว่าทำให้รู้สึกสบาย
– ติดไฟยาก ช่วยในการป้องกันสะเก็ดลูกไฟ
– ดูดซับน้ำได้ยากช่วยป้องกันการลื่นหลุดออกจากรูหูอันเนื่องจากเหงื่อและความชื้น
– การสวมใส่ควรให้เอียปลั๊กสอดเข้าไปในรูหูอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
- ประเภทที่นำมาใช้ใหม่ได้ (Reusable earplugs)
ส่วนใหญ่จะทำด้วย เธอร์โมพลาสติก, ยางและ ซิลิโคน ค่าการลดเสียงอยู่ที่ระหว่าง 24-26 เดซิเบล ข้อเสียคือเรื่องของการสวมใส่อาจจะเจ็บหูเพราะมีความนุ่มน้อยกว่าประเภทใช้แล้วทิ้ง แต่มีข้อดีคือประหยัดและใช้ซ้ำได้ เอียปลั๊กที่มีความนุ่มมากจะผลิตจากซิลิโคนซึ่งใกล้เคียงกับผิวหนังมนุษย์ มีอายุการใช้งานได้นานแต่ราคาค่อนข้างสูง
ลักษณะเป็นอุปกรณ์ครอบหูลดเสียงทั้งสองข้างก้านอาจทำด้วยพลาสติก หรือลวดสแตนเลสจะมีข้อดีตรงที่ช่วยให้แรงบีบของครอบหูทั้งสองข้าง (Camping force) คงที่สม่ำเสมอ ไม่เกิดการขยายตัวในช่วงบ่ายเมื่อสวมใส่ทั้งวัน และสามารถนำกับมาใช้ซ้ำได้ เอียมัฟป้องกันเสียงทีมีความถี่สูงได้ดี และในการทำงานในที่มีเสียงดังมากๆ ต่อเนื่อง การสวมใส่เอียมัฟจะให้ความปลอดภัยมากกว่าเนื่องด้วยความกระชับ และป้องกันได้คงที่มากกว่า
อย่างไรก็ตามการเลือกค่าการลดเสียง หรือ NRR (Noise Reduction Rating) ที่เหมาะสมของอุปกรณ์ลดเสียง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนนำมาใช้งานจริง ตลอดจนมีการฝึกการป้องกันอันตรายจากเสียงดัง อบรมการสวมใส่อย่างถูกวิธีด้วยเพื่อป้องกันการสูญเสียการได้ยินของลูกจ้าง และเป็นไปตามการปฏิบัติตามข้อกำหนดของโครงการอนุรักษ์การได้ยินด้วย (Hearing conservation program)
ข้อมูลโดย ปราโมทย์ โอภาสมงคลชัย