ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า
กระแสไฟฟ้าที่ใช้ทั้งในโรงงานอุตสากรรม สำนักงานหรือตามบ้านเรือนมีอันตรายสูงมาก และรวดเร็วที่สุดเมื่อเข้าไปสัมผัส ผู้ที่ใช้งานหรือมีส่วนเกี่ยวข้องจึงควรมีความรู้ความเข้าใจในวิธีการทำงาน เกี่ยวกับไฟฟ้า ทั้งชนิดกระแสไฟฟ้าที่ใช้แรงเคลื่อน 220 โวลท์ และ 380 โวลท์
โดยทั่วไป เรานำไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
- เป็นต้นกำลังพลังงานกล เช่น การเดินเครื่องจักร
- เป็นแหล่งให้แสงสว่าง เช่น หลอดไฟ โคมไฟ
- เป็นแหล่งให้ความร้อน โดยต่อเข้ากับขดลวดชุดความร้อน เช่น กระติกต้มน้ำร้อน
- เป็นแหล่งหรือสื่อกลางของการสื่อสาร เช่น แบตเตอรี่โทรศัพท์
- เป็นแหล่งให้พลังงานกับอุปกรณ์
- เป็นแหล่งให้อำนาจแม่เหล็กกับอุปกรณ์
- เป็นแหล่งให้เกิดปฏิกิริยาเคมี
อันตรายจากไฟฟ้า
การแบ่งลักษณะของอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น มี 2 ลักษณะ
- ไฟฟ้าดูดเนื่องจากร่างกายไปแตะต้อง หรือต่อเข้ากับวงจรไฟฟ้า ทำให้มีกระแสไฟไหลผ่านเข้าในร่างกายและถ้าไฟฟ้าไหลผ่านอวัยวะที่สำคัญก็อาจทำให้เสียชีวิตได้หากกระแสไฟมีปริมาณมากพอ ความสัมพันธ์ของกระแสไฟฟ้าและปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกายต่อกระแสไฟฟ้ามี
- เพลิงไหม้อัคคีภัยที่เกิดจากไฟฟ้ามีสาเหตุ 2 ประการ คือ ประกายไฟและความร้อนที่สูงผิดปกติ ซึ่งตามทฤษฎีการเกิดเพลิงไหม้นั้น จะต้องมีองค์ประกอบครบ 3 อย่าง คือ เชื้อเพลิง แหล่งความร้อน และออกซิเจน ดังนั้น การป้องกันไฟไหม้ที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า จึงต้องขจัดองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสามอย่างดังกล่าวออก โดยเฉพาะการขจัดแหล่งความร้อน เช่น
- ประกายไฟที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร
- หัวต่อหรือหัวขั้วสายไฟหลวมจึงเกิดการเดินของกระแสไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอ
- การเกิดประกายไฟ (spark) จากการเดินไม่เรียบของกระแสไฟ
- การใช้ฟิวส์ไม่ถูกต้อง ขนาดไม่เหมาะสม หรือใช้สวิทซ์ตัดไฟอัตโนมัติไม่เหมาะสม
- กระแสไฟฟ้าไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้ามากเกินไป
- มอเตอร์ทำงานเกินกำลัง
- ต่ออุปกรณ์ไฟฟ้ามากเกินไปในเต้าเสียบเดียวกัน
- แรงดันไฟฟ้าที่ขั้วมอเตอร์ไฟฟ้าต่ำเกินไป ซึ่งโดยสรุปสาเหตุเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุหลักของการเกิดเพลิงไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าทั้งสิ้น
อันตรายที่เกิดขึ้นจากกระแสไฟฟ้ามีสาเหตุหลักๆมาจาก
- ระบบการบริหาร
– ขาดระบบการประสานงานที่ดีระหว่างฝ่ายผลิตกับซ่อมบำรุง ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น ไม่มีระบบการล็อคกุญแจและแขวนป้าย (Lock-out and Tag-out)
– ไม่มีแบบแปลนไฟฟ้า ข้อมูลและตัวเลขทางเทคนิคต่างๆ ของระบบ ไฟฟ้าที่ถูกต้องประจำหน่วยงาน เช่น เมื่อมีการต่อเติมระบบไฟฟ้าแล้วไม่ได้นำข้อมูลไปเพิ่มเติมในแบบแปลน
– ขาดช่างเทคนิคที่มีความรู้ความสามารถ เป็นต้น - การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้ระบบไฟฟ้าในโรงงานไม่มีมาตรฐานเพียงพอ
- การทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย เช่น บริเวณพื้นที่ปฏิบัติงานมีความเปียกชื้น ซึ่งจะทำให้ร่างกายเป็นสื่อนำไฟฟ้าได้ดี
- ผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า หรือใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า ขาดความรู้เรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับการติดตั้ง และ/หรือการใช้งานอย่างถูกวิธี เช่น
4.1 ช่างไฟฟ้า
– ขาดความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับหลักการและกฎทางไฟฟ้า
– ต่อสายไฟไม่ดี หรือวิธีการต่อไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน
– ไม่ตัดวงจรไฟฟ้าก่อนปฏิบัติงาน
– ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าผิดลักษณะ
– ปฏิบัติงานโดยไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ เป็นต้น
4.2 ผู้ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า
– ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุด มีกระแสไฟฟ้ารั่ว
– ใช้อุปกรณ์ผิดประเภท (เช่น การใช้เต้าเสียบผิดประเภท)
– ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าขณะที่ร่างกายมีความเปียกชื้น
– รีบเร่งปฏิบัติงาน เป็นต้น
การป้องกันและควบคุม
- ออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และผู้ปฏิบัติงาน เช่น ติดตั้งเครื่องตัดวงจรอัตโนมัติ ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำด้วยวัสดุไม่นำไฟฟ้า
- กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้การจัดซื้ออุปกรณ์ทางด้านไฟฟ้าของหน่วยงานได้มาตรฐาน
- อบรมให้ความรู้กับผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับไฟฟ้าในเรื่องวิธีการทำงานให้ปลอดภัยจากไฟฟ้า การช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากกระแสไฟฟ้า ข้อควรระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดจากการทำงาน หรือสัมผัสกระแสไฟฟ้าที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการช็อคเนื่องจากกระแสไฟฟ้า เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีเกร็ดเล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างปลอดภัยไว้ เพื่อจะได้เป็นข้อพึงระวังสำหรับการใช้งานด้วย
การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ไฟฟ้า
- ตรวจสอบสายไฟฟ้า และตรวจจุดต่อสายก่อนใช้งาน โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ได้ควรตรวจสอบบริเวณจุดข้อต่อ ขั้วที่ติดอุปกรณ์ ถ้าชำรุดควรเปลี่ยนให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานเสมอ
- ดวงโคมไฟฟ้าต้องมีที่ครอบป้องกันหลอดไฟ
- การเปลี่ยนหรือซ่อมแซมอุปกรณ์ ควรให้ช่างทางเครื่องมือหรือไฟฟ้าเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ควรดำเนินการเองโดยเด็ดขาดหากไม่มีความรู้
- ห้ามจับสายไฟขณะที่มีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่
- ห้ามใช้อุปกรณ์ขณะมือเปียก
- ไม่ควรเดินเหยียบสายไฟ
- อย่าแขวนสายไฟบนของมีคม เพราะของมีคมอาจบาดสายไฟชำรุดและก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้
- การใช้เครื่องมือทางไฟฟ้า ควรต่อเปลือกหุ้มที่เป็นโลหะลงสู่ดิน
- การใช้มอเตอร์ หม้อแปลง ควรมีผู้รับผิดชอบควบคุมในการเปิดปิดใช้งาน
- ในส่วนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายควรมีป้ายติดแสดงอย่างชัดเจน
- ถ้าเกิดเหตุการณ์ผิดปกติกับอุปกรณ์ควรแจ้งให้ผู้รับผิดชอบทราบทันที และห้ามใช้งานต่อ
- ห้ามปลดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายทางไฟฟ้าออก ยกเว้นได้รับอนุญาตจากผู้เชี่ยวชาญ
- เมื่อใช้งานเสร็จแล้วควรปิดสวิทช์ และต้องแน่ใจว่าสวิทช์ได้ปิดลงแล้ว
- อุปกรณ์ทางไฟฟ้าต่างๆ ควรหมั่นทำความสะอาดให้ปราศจากฝุ่นละออง
- ห้ามห่อหุ้มโคมไฟด้วยกระดาษ ผ้าหรือวัสดุที่ติดไฟได้
- ห้ามนำสารไวไฟ หรือสารลุกติดไฟง่ายเข้าใกล้สวิทช์ไฟฟ้า
- หมั่นตรวจสอบฉนวนหุ้มอุปกรณ์อยู่เสมอ ในบริเวณที่อาจสัมผัส หรือทำงาน
- เมื่อมีผู้ได้รับอันตราย ควรสับสวิทช์ให้วงจรเปิด (ตัดกระแสไฟฟ้า)
- เมื่อไฟฟ้าดับ หรือเกิดไฟฟ้าช๊อต ควรสับสวิทช์วงจรไฟฟ้าให้เปิด
การติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า
- การติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย และมาตรฐานทางไฟฟ้า
- การติดตั้งต้องดูแลโดยผู้ชำนาญ โดยเฉพาะการสื่อสารเมื่อมีการทำงานในขณะกระแสไฟฟ้าไหลอยู่
- การติดตั้งอุปกรณ์ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันโดยเฉพาะ
- ไม่ควรทำงาน หรือเปิดชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าในขณะกระแสไฟฟ้าไหล
- อุปกรณ์หรือสายไฟฟ้าที่ติดตั้งในที่สูง ต้องมีฉนวนหุ้มอย่างดีและตรวจสอบความเรียบร้อยอยู่เสมอ
- เมื่อมีอุปกรณ์ไฟฟ้าบนพื้นถนนควรมีระบบป้องกันอันตรายเฉพาะทาง เช่น รั้วป้องกันรถชน ป้ายเตือนสะท้อนแสง เป็นต้น
- เครื่องจักรทุกชนิดควรมีสายดินที่ดี
- ควรสับสวิทช์เครื่องจักรและล๊อคกุญแจ (Lock-out) เพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องที่อาจเข้าใจผิดสามารถเปิดสวิทช์ได้ และควรมีป้ายบอกให้ชัดเจน (Tag-out)
- ต้องมีการเทประจุไฟฟ้าเมื่อเครื่องมือนั้นมีประจุค้างอยู่
การทำงานขณะมีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่
- ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับงาน
- ถ้าต้องทำงานใกล้ไฟฟ้าแรงสูงเกิน 60 เซนติเมตร ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เป็นฉนวนอย่างดีและ ในกรณีที่อยู่ห่างมากกว่า 60 เซนติเมตรให้ใช้อุปกรณ์รองลงมา
- ในการทำงานต้องปรึกษาผู้ชำนาญการทางไฟฟ้าก่อน และต้องมีผู้ชำนาญการควบคุมดูแลตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน
- พนักงานงานไม่ควรพักใกล้สายไฟแรงสูง
- การใช้อุปกรณ์เครื่องมือ ต้องใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน
- ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลทุกครั้ง