ความรู้เกี่ยวกับที่อุดหู

ความรู้เกี่ยวกับที่อุดหู

เสียง เป็นอีกหนึ่งประสาทสัมผัสที่ผ่านทางหู ช่วยในการสนทนากับผู้อื่น หรือช่วยให้เราสนุกไปกับเสียงเพลง เห็นได้ว่าเสียง มีประโยชน์กับการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นเสียงที่อยู่ในระดับความดังที่เหมาะสม เพราะหากเราได้ยินเสียงดังเกินปกติเป็นเวลานานๆ จะก่อให้เกิดปัญหาได้ เริ่มตั้งแต่ก่อให้เกิดความรำคาญ หงุดหงิดใจ ไปจนถึงสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อหู โดยเฉพาะเซลล์ขนหรือประสาทรับเสียงเสื่อมสภาพเร็วขึ้น เป็นที่มาของอาการ “หูตึง” และหากยังได้รับอันตรายจากเสียงเกินมาตรฐานต่อไปเรื่อยๆ อาจทำให้ถึงขั้น “หูหนวก”

Formable Insert Plugs (ปลั๊กอุดหูที่ทำจากโฟม)

คนส่วนใหญ่นิยมใช้อุปกรณ์ป้องกันการได้ยินชนิดนี้ ซึ่งทำมาจากโฟมที่สามารถยืดขยายตัวได้ เวลาใช้งานก็ใช้มือบีบโฟมให้มีขนาดเล็กๆ แหลมๆ แล้วใส่เข้าไปในรูหู ถ้าต้องการใส่ให้กระชับมากขึ้น ให้เอื้อมมือข้ามศีรษะมาดึงใบหูขึ้น แล้วจึงใส่ปลั๊กอุดหูที่ทำจากโฟมเข้าไปในรูหู

ข้อดีของปลั๊กอุดหูที่ทำจากโฟม คือ ใส่แล้วกระชับกับรูหูของแต่ละบุคคล มีประสิทธิภาพในการป้องกันการได้ยินดีที่สุด และรู้สึกสบายเมื่อสวมใส่ ข้อเสีย คือ ก่อนที่จะใช้งานพนักงานต้องบีบก้อนโฟมให้มีขนาดและรูปร่างตามที่เราต้องการ ซึ่งทำให้สิ่งสกปรกที่ติดอยู่ที่มือนั้นปนเปื้อนไปที่ก้อนโฟม ทำให้จำนวนการใช้งาน ค่อนข้างสั้น ใช้ไม่กี่ครั้งก็ต้องทิ้ง เพราะว่าสกปรก

 

 

 

ข้อดีและข้อเสีย

ข้อดี:

  • ราคาถูก
  • ลดระดับความดังของเสียงได้มากกว่าที่อุดหูชนิดอื่น
  • ไม่ระคายเคืองต่อรูหู
  • สามารถใส่ทำงานได้เป็นเวลานานๆ

ข้อเสีย:

  • สิ้นเปลือง เพราะไม่สะดวกที่จะล้างทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้และสูญเสียง่าย
  • เสียเวลาในการปั้นให้เป็นรูปก่อนการใช้

Premolded Plugs (ปลั๊กอุดหูที่ทำจากพลาสติกหรือซิลิโคน)

ปลั๊กอุดหูแบบนี้นั้นจะเป็นแบบมาตรฐานที่ทำจากพลาสติกหรือซิลิโคน ที่ออกแบบให้มีรูปร่างเพื่อให้เหมาะสมกระชับกับรูหู ซึ่งวิธีการใส่ให้ถูกต้องนั้น คือการเอื้อมมือข้ามศีรษะมาดึงใบหูขึ้น แล้วจึงใส่ปลั๊กอุดหูไปในรูหู

ข้อดีของปลั๊กอุดหูที่ทำจากพลาสติกหรือซิลิโคน คือ จะมีรูปร่างที่เหมาะสม สะดวกและง่ายต่อการใส่เข้าไปในหู ส่วนข้อเสีย คือ ปลั๊กอุดหูแบบนี้ จะผลิตออกมาเป็นขนาดมาตรฐานเพียงขนาดเดียว ซึ่งอาจมีขนาดที่ใหญ่ไปหรือเล็กเกินไปสำหรับพนักงานบางคน ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงดัง

 

 

 

 

ข้อดีและข้อเสีย

ข้อดี:

  • ล้างทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้
  • สามารถใส่ทำงานได้เวลานานๆ

ข้อเสีย:

  • สูญหายง่าย เป็นเหตุให้สิ้นเปลือง
  • ระคายเคืองหูและบางคนอาจแพ้วัสดุที่ทำที่อุดหู
  • ราคาสูงกว่าแบบต้องปั้นขึ้นรูป

ที่ครอบหู (EAR MUFF)

เป็นอุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง ที่มีราคาสูงกว่าที่อุดหูมาก วัสดุที่ใช้ทำอุปกรณ์ประเภทนี้มักได้แก่ พลาสติก+โลหะ

ความสามรถในการลดความดังของเสียงจะอยู่ในระดับ 25-29 เดซิเบล 

 

 

 

 

 

ข้อดีและข้อเสีย

ข้อดี:

  • ทนทาน ถาวรกว่าที่อุดหู ล้างทำความสะอาดได้
  • ใช้ง่ายกว่าที่อุดหู
  • ลดความดังของเสียงได้ดีกว่า

ข้อเสีย:

  • ราคาสูง
  • ไม่เหมาะสมกับงานที่ต้องใส่อยู่เป็นเวลานานๆ
  • มีการบำรุงรักษามากกว่าที่อุดหู

การเลือกอุปกรณ์ป้องกันเสียง

สภาพสังคมปัจจุบัน มีการนำเครื่องจักร รถยนต์ มาใช้อำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต กันอย่างกว้างขวาง เช่น การผลิตสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม การคมนาคม เครื่องจักร รถยนต์ เหล่านี้ แม้จะช่วยอำนวยความสะดวก แต่เสียงที่ดังจากการทำงานของเครื่องจักร เครื่องยนต์ ส่งผลกระทบต่อผู้สัมผัสเสียงดังเป็นเวลานานๆ เช่น ตำรวจจราจร พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่ง เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ทั้งทางร่างกาย คือ ความสามารถในการได้ยินลดลง (หูเสื่อม) และทางจิตใจ คือโรคเครียด โรคความดันโลหิตสูง

วิธีการป้องกันเสียงดังมี 3 แบบหลักได้แก่

  1. ป้องกันที่แหล่งกำเนิด เช่น การเปลี่ยนระบบการทำงานของแหล่งกำเนิด การใช้วัสดุครอบแหล่งกำเนิด เป็นต้น
  2. ป้องกันที่ทางเดินของเสียง เช่น การติดตั้งกำแพงกั้นเสียง การทำให้ระยะทางระหว่างแหล่งกำเนิดและผู้รับเสียงเพิ่มขึ้น เป็นต้น
  3. ป้องกันที่ผู้รับเสียง โดยการใช้อุปกรณ์ ที่ครอบหู (Ear muffs) หรือที่อุดหู (Ear plugs) เป็นต้น

การเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น งบประมาณที่มี ลักษณะของสภาพแวดล้อมที่เกิดปัญหา ลักษณะของปัญหาที่เกิด ในกรณีของการป้องกันที่ผู้รับเสียง การเลือกอุปกรณ์ป้องกันเสียง เช่น ที่ครอบหู (Ear muffs) หรือที่อุดหู (Ear plugs) มาใช้ป้องกันเสียง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากเมื่อเทียบกับวิธีอื่น แต่ควรมีหลักในการเลือกอุปกรณ์ให้เหมาะกับสภาวะทางเสียงในขณะนั้น เพราะถ้าเลือกซื้อไม่ถูกต้องอุปกรณ์ก็จะป้องกันเสียงได้ไม่มากหรือป้องกันไม่ได้เลย

ประเภทของอุปกรณ์ป้องกันเสียง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  1. ที่ครอบหู (ear muff) ลดเสียงได้ตั้งแต่ 30-40 dB ลดเสียงที่ความถี่สูงกว่า 400 Hz ได้ดี มี 2 ชนิด คือ แบบที่เป็นโลหะและที่เป็นพลาสติก
  2. ที่อุดหู (ear plugs) ลดเสียงได้ตั้งแต่ 15-25 dB ลดเสียงที่มีความถี่ต่ำกว่า 400 Hz ได้ดี ทำจากวัสดุหลายชนิด เช่น โฟม ใยหิน ใยแก้ว ฯลฯ

การเลือกอุปกรณ์ป้องกันเสียง

การเลือกอุปกรณ์ป้องกันเสียงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้

  1. ไม่เป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมที่กระทำ
  2. ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสนทนาหรือสื่อสาร
  3. ระดับเสียงที่ต้องการลด และความสามารถลดระดับเสียงของอุปกรณ์