มารู้จักตำแหน่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยกัน
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หรือที่เราเรียกกันย่อๆ ว่า “จป.” คือบุคลการที่ดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงานที่สถานประกอบกิจการต่างๆ ต้องจัดให้มีตามกฏหมาย โดยแบ่งเป็นระดับต่าง ตามความรู้ความสามารถ นั่นหมายความว่า เกือบทุกๆบริษัทฯ หรือแม้แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดต่างๆ ก็ต้องมี จป. ประจำโรงงาน อยู่ที่ว่าจะต้องมีกี่ระดับก็เท่านั้น
แล้วประเภทของ จป. มีอะไรบ้าง?
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับหัวหน้างาน: ขื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นหัวหน้างาน นั่นหมายความว่าตามกฏหมายแล้ว พนักงานในระดับหัวหน้างานในสถานประกอบกิจการทุกคนจะต้องเป็น จป.หัวหน้างานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การจะเป็นจป.หัวหน้างานนั้นจะต้องมีการอบรมเพื่อให้ได้ประกาศนียบัตรมา และได้รับการประกาศแต่งตั้งก่อน
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับบริหาร: การได้มาของ จป.บริหารไม่แตกต่างจาก จป.หัวหน้างานมากนัก แค่ไปอบรมจากสถาบันที่ได้รับอนุญาตให้เป็นหน่วยฝึกอบรมก็เท่านั่น จะต่างกันก็ตรงที่ผู้ที่จะมาเป็น จป.บริหารต้องอยู่ในระดับสูงกว่าหัวหน้างานขึ้นไปเท่านั้น
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับเทคนิค: จะพบได้ในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คน แต่ไม่เกิน 50 คน โดยนายจ้างต้องส่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับหัวหน้างาน ไปอบรมเพื่อเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับเทคนิคเพิ่มเติม
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับเทคนิคขั้นสูง: สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100 คน จะต้องมีเจ้าหน้าที่ในความปลอดภัยระดับเทคนิคขั้นสูงเพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน จป.เทคนิคขั้นสูงก็สามารถเป็นได้ด้วยการอบรมเช่นกัน (และจบ ปวส. หรืออนุปริญญาเป็นขั้นต่ำ) แต่การได้ใบประกาศนีบัตรนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องสอบวัดระดับความรู้ แบ่งเป็นหมวดๆ ในหนึ่งคลาสจะมีคนสอบผ่านทุกหมวดแค่ไม่กี่คนเท่านั้น
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ: ใน จป.ทุกระดับมีแค่ จป.วิชาชีพเท่านั้นที่ไม่สามารถได้มาด้วยการอบรมและสอบเพียงเท่านั้น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพจะต้องจบปริญญาตรีด้านอาขีวอนามัย และความปลอดภัย หรือวิทยาศาตร์ความปลอดภัยจากสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองเท่านั้น ในสถานประกอบการทีมีพนักงานตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไปจะต้องมี จป.วิชาชีพ อย่างน้อยหนึ่งคน
สรุปคือ สถานประกอบกิจการต่างๆจะต้องมี จป. อย่างน้อยสามระดับ สองระดับแรก คือ จป.หัวหน้างาน จป.บริหาร นอกเหนือจากนี้ก็จะเพิ่มเติมตามจำนวนพนักงาน ถ้ามีพนักงานตั้งแต่ 20 – 50 คน ก็ต้องเพิ่ม จป.เทคนิคเข้าไป, พนักงาน 51 – 100 คน ก็เปลี่ยนจากเทคนิคเป็นเทคนิคขั้นสูง และถ้ามีพนักงานตั้งแต่ 101 คน ก็จะกลายเป็น จป.วิชาชีพแทนนั่นเอง
คราวนี้คงรู้จัก จป.แต่ละระดับกันแล้ว แน่นอนว่าหลายๆคนคงสงสัยว่าจะมี จป. ไปทำไมกัน แล้วพวกเค้ามีหน้าที่อะไร แน่นอนว่าหน้าที่หลักๆ คือการดูแลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน แต่เพื่อความชัดเจนกฏหมายก็ทำการกำหนดหน้าที่ของ จป.ระดับต่างๆ ไว้อย่างชัดเจนซึ่งสามารถไปดูเพิ่มเติมได้ที่ กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2549