รู้ไว้ไม่เสียหลาย… ป้องกันอันตรายในโรงงานอุตสาหกรรม
ลักษณะการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องมือ เครื่องจักรขนาดใหญ่ ตลอดจนมีผู้ร่วมปฏิบัติงานเป็นจำนวนมากในโรงงานอุตสาหกรรม เสี่ยงต่ออุบัติเหตุและความเจ็บป่วยหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเราสามารถป้องกันได้ ดังนี้
การติดตั้งเซฟการ์ดให้เครื่องจักร
การป้องกันอันตรายจากการทำงานกับเครื่องจักร คือ การติดตั้งเซฟการ์ด (Safeguard) เช่น รั้วกั้น ที่ปิดล้อม ที่ปิดครอบเครื่องจักรแต่ละประเภท เพื่อแยกส่วนที่อันตรายให้อยู่ต่างหาก ซึ่งเป็นการช่วยควบคุมอันตรายจากต้นเหตุ โดยเครื่องจักรที่ต้องการเซฟการ์ด ได้แก่
- เครื่องส่งถ่ายกำลัง ได้แก่ เพลา สายพาน กระเดื่อง โซ่ พูลเลย์ เกียร์ อันตรายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากการชน กระแทก หนีบ หรือถูกดึงเข้าไป
- เครื่องจักรซ่อมบำรุง ได้แก่ เครื่องกลึงเครื่องกัด เครื่องไส เครื่องเจีย เครื่องเจาะ ที่มักเกิดอุบัติเหตุกับนิ้วมือ มือ แขน เท้า ใบหน้า ศรีษะ ลำตัว ผิวหนัง และมักเกิดกับผู้ปฏิบัติงานกับเครื่องจักรนั้นๆ โดยตรง
- เครื่องจักรในกระบวนการผลิต ได้แก่ สายพานลำเลียงวัสดุ เครื่องปั๊มโลหะ ปั้นจั่น ยกเคลื่อนย้าย เครื่องเป่า ฉีด หรือเครื่องจักรขึ้นรูปต่างๆ อันตรายมักเกิดจากการกระเด็น วัสดุมีคมบาดมือ เท้า ฉุดดึงมือหรือเสื้อผ้าเข้าไป
ทั้งนี้ เครื่องเซฟการ์ดที่ดีจะต้องได้รับการออกแบบถูกต้องตามมาตรฐาน สามารถป้องกันอันตรายจากการทำงานได้มากที่สุดตลอดจนไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน
อุปกรณ์ป้องกันการตก
ความเสี่ยงการตกจากที่สูง ไม่ว่าจะด้วยการซ่อมบำรุง การควบคุมเครื่องจักรขนาดใหญ่มักเป็นของคู่กันกับโรงงานอุตสาหกรรม แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วย 3 แนวทางนี้
- ป้องกันในสถานที่ทำงาน
– มีการจัดระบบงานเพื่อจำกัดการทำงานบนที่สูง
– ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการตกเพื่อลดความเสี่ยง เช่น นั่งร้าน ตาข่าย
– ใช้อุปกรณ์ป้องกันการตกที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน เมื่อไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการตกได้ - ป้องกันที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน
– การฝึกอบรมให้กับผู้ที่ต้องขึ้นไปปฏิบัติงานบนที่สูงให้ทราบถึงอันตราย และวิธีป้องกันตนเอง - การป้องกันโดยใช้อุปกรณ์ป้องกัน
– โดยการใช้อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานในกรณีที่ไม่มีมาตรฐานให้ขอใบรับรองผลการทดสอบจากโรงงานผู้ผลิต
– ไม่สร้างระบบการป้องกันการตกด้วยตนเอง
ป้องกันอันตรายจากเสียง
ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง เสียง พ.ศ. 2549 กำหนดให้ระดับความดังของเสียงที่ควรได้รับติดต่อกันไม่เกิน 90 เดซิเบล ในระยะเวลาทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งหากดังเกินกำหนด 90 เดซิเบล ต้องลดระยะเวลาทำงานลง เพื่อป้องกันการสูญเสียระบบการได้ยินเสียง ทั้งนี้ โรงงานอุตสาหกรรมสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- ปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดเสียงจากเครื่องจักร อุปกรณ์หรือแหล่งที่ทำให้เกิดเสียงดัง
- สวมอุปกรณ์ป้องกันหูตลอดเวลาการทำงาน เช่น ที่อุดหู (Ear Plugs) จะสามารถลดเสียงที่มีความสูงที่จะเข้าถึงหูได้ถึง 25-30 เดซิเบล ขณะที่ที่ครอบหู (Ear Muff) สามารถลดเสียงลงได้ถึง 35-40 เดซิเบล
- เผยแพร่ความรู้เพื่อให้พนักงานตระหนักถึงอันตรายของเสียงและประโยชน์ของการใช้อุปกรณ์ป้องกัน
- ทดสอบสรรถภาพการได้ยินของพนักงานที่ต้องสัมผัสกับเสียงดังเป็นประจำ
- ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อไม่ให้ระดับความดังของเสียงเกินมาตรฐานที่กำหนด
อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ
สถานประกอบกิจการที่มีคนทำงานเป็นจำนวนมาก โอกาสได้รับเชื้อโรคติดต่อทางเดินหายใจต่างๆ ที่ปนมากับเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ซึ่งแพร่สู่กันด้วยวิธีไอหรือจาม การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนยิ่งสูง วิธีที่จะช่วยป้องกันทั้งการแพร่เชื้อและการติดเชื้อได้คือ การใช้หน้ากากอนามัยที่สามารถช่วยกรองเชื้อโรคออกได้ถึงร้อยละ 80 ทั้งยังช่วยป้องกันฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศไปในคราวเดียวกัน
หน้ากากอนามัยที่นิยมใช้ป้องกันการติดเชื้อทางเดินระบบหายใจ รวมถึงป้องกันอันตรายจากพิษของฝุ่นบางประเภท มี 2 แบบ คือ
- หน้ากากอนามัยแบบทั่วไป หน้ากากอนามัยประเภทนี้ค่อนข้างกระชับกับใบหน้า โดยแนบไปกับใบหน้า ซึ่งใช้ในวงการแพทย์เป็นส่วนใหญ่ และมักใช้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคผ่านทางการไอหรือจามได้
- หน้ากากอนามัยแบบ N95 เป็นหน้ากากอนามัยชนิดที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ประสิทธิภาพในการป้องกันจะสูงกว่าหน้ากากอนามัยแบบทั่วไป เนื่องจากหน้ากากอนามัยชนิดนี้จะมีลักษณะครอบลงไปที่บริเวณหน้าปากและจมูกอย่างมิดชิด ทำให้เชื้อไวรัสหรือสารปนเปื้อนไม่สามารถลอดผ่านได้
ทุกที่ล้วนมีความไม่ปลอดภัยแฝงอยู่ เพราะฉะนั้นนอกจากการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ติดตั้งเครื่องป้องกันต่างๆ ภายในพื้นที่ทำงาน การมีสติตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ปฏิบัติตามกฎระเบียบความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดของผู้ปฏิบัติงานเองก็มีส่วนสำคัญอยู่ไม่น้อย