วิธีการดูแลรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า ใช้ถูกวิธีชีวีจะปลอดภัย
พูดถึงเรื่องการใช้ไฟฟ้าในบ้านแล้ว ถ้าคุณเป็นคนที่ดูแลรักษาของเป็นประจำ และรู้จักซ่อมบำรุงชิ้นส่วนต่างๆ ที่ชำรุดเสียหาย อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านเหล่านั้นก็จะอำนวยความสะดวกให้คุณได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าหากคุณปล่อยปละละเลย ใช้อย่างเดียว ไม่เคยดูแลรักษา สิ่งของเหล่านั้นก็อาจจะทำให้คุณบาดเจ็บ หรือที่เลวร้ายที่สุดคืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
วันนี้เรามีบทความดีๆ จากทางการไฟฟ้านครหลวงมาฝากเพื่อนๆ ทุกคน เพราะเชื่อว่าน่าจะมีไฟฟ้าใช้กันทุกบ้าน โดยบทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “วิธีดูแลรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า” ซึ่งอุปกรณ์ที่ว่านี้ เราไม่ได้หมายถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ว่าเป็นอุปกรณ์จำพวก สายไฟฟ้า, เต้ารับ-เต้าเสียบ, สวิตช์ตัดตอนชนิดคัตเอาต์, และ เบรกเกอร์ นั่นเอง
สายไฟฟ้า
สายไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สำคัญและจำเป็นสำหรับทุกบ้าน โดยเป็นตัวกลางในการนำกระแสไฟฟ้ามาสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกในบ้านของคุณ สิ่งที่เราควรคำนึงถึงเกี่ยวกับการใช้งานสายไฟฟ้าในบ้านมีดังนี้
- สายไฟฟ้าเก่าหรือหมดอายุใช้งาน จะสังเกตได้จากฉนวน ซึ่งจะแตกหรือแห้งกรอบบวม หากพบเจอควรเปลี่ยนหรือซ่อมแทรมโดยผู้ชำนาญ
- จุดต่อสายไฟ การเข้าสายต้องขันให้แน่นและมีการพันฉนวนให้เรียบร้อย
- ขนาดของสายไฟฟ้า ควรใช้ขนาดของสายให้เหมาะสมกับปริมาณกระแสที่ไหลในสายหรือให้เหมาะสมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในวงจรนั้นๆ
- สายไฟฟ้าต้องไม่เดินอยู่ใกล้แหล่งความร้อน สารเคมีหรือถูกของหนักทับ เพราะจะทำให้ฉนวนชำรุดได้ง่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นได้
- สายไฟไม่ควรพาดบนโครงเหล็ก รั้วเหล็ก ราวเหล็ก หรือส่วนที่เป็นโลหะ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรเดินสายไฟฟ้าโดยใช้พุกประกบหรือร้อยท่อให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วลงบนโครงโลหะ
เต้ารับ-เต้าเสียบ
อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญและควรดูแลอย่างใกล้ชิดมากที่สุดอีกอย่างก็คือ เต้ารับ-เต้าเสียบ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่เราต้องสัมผัสโดยตรงขณะใช้งาน และถ้าหากเราใช้งานเต้ารับที่ชำรุด ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดไฟฟ้าดูดหรือลัดวงจร และเป็นอันตรายได้ ดังนั้นเราควรตรวจเช็คเต้ารับ-เต้าเสียบดังนี้
- เต้ารับ เต้าเสียบที่ดีและปลอดภัย ต้องไม่แตกร้าวและไม่มีรอยไหม้
- การต่อสายที่เต้ารับและเต้าเสียบ ต้องต่อให้แน่นและเลือกใช้ขนาดสายไฟให้ถูกต้องตามลักษณะการใช้งาน
- เต้าเสียบเมื่อเสียบใช้งานกับเต้ารับแล้วจะต้องแน่น ไม่หลวมหรือโยกไปโยกมา
- เต้ารับต้องติดตั้งในที่แห้ง ไม่เปียกชื้นเท่านั้นและควรติดให้พ้นมือเด็กเล็กที่อาจเล่นถึงได้
สวิตช์ตัดตอนชนิดคัตเอาต์ (Cut Out)
“สวิตช์ตัดตอนชนิดคัตเอาต์” หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างนึงว่า “สะพานไฟ” คืออุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้ามากเกินไป โดยมีหน้าที่ในการตัดและต่อกระแสไฟฟ้าด้วยการโยกคัตเอาต์ขึ้น (ต่อวงจร) และโยกคัตเอาต์ลง (ตัดวงจร) ภายในตัวคัตเอาต์จะมีฟิวส์ ซึ่งเมื่อมีการใช้ไฟฟ้าเกิดขนาด เจ้าฟิวส์นี้เองก็จะหลอมละลาย และตัดวงจรไฟฟ้าลง ช่วยป้องกันอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากการถูกทำลายจากไฟฟ้าที่เกินขนาดนั่นเอง โดยเราจะมีวิธีดูแลรักษาสะพานไฟได้ดังนี้
- ตัวคัตเอาต์และฝาครอบต้องไม่แตก และมีสภาพพร้อมใช้งาน
- ใส่ฟิวส์ให้ถูกขนาดและมีฝาครอบปิดให้มิดชิด (ฟิวส์ที่ใช้ต้องเป็นแบบก้ามปู)
- ห้ามใช้วัสดุอื่นใส่แทนฟิวส์ เพราะอาจทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรได้
- ขั้วต่อสายที่คัตเอาต์ต้องแน่นและใช้ขนาดสายให้ถูกต้องตามกำลังไฟที่ใช้งาน
- ใบมีดของคัตเอาต์เมื่อสับใช้งานต้องแน่นพอดี ไม่หลวม
เบรกเกอร์ (Breaker)
“เบรกเกอร์” หรือ “Circuit Breaker” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาความปลอดภัยในบ้านที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะเป็นอุปกรณ์ที่สามารถเปิดวงจร (ตัดไฟ) ได้เองอัตโนมัติ เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเกิดกว่าค่าที่กำหนด เบรกเกอร์ก็จะจัดการเปิดวงจรทันที เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นและในเมื่อเบรกเกอร์มีความจำเป็นขนาดนี้ เราไปดูวิธีการใช้งานและดูแลรักษากันดีกว่า
- ตรวจสอบฝาครอบเบรกเกอร์ต้องไม่แตกร้าว
- ต้องมีฝาครอบปิดเบรกเกอร์ให้มิดชิด
- ควรติดตั้งในที่แห้งไม่เปียกชื้นและห่างไกลจากสารเคมี สารไวไฟต่างๆ
- เลือกเบรกเกอร์ที่มีขนาดเหมาะสมกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
เป็นยังไงกันบ้างครับกับวิธีการดูแลรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี ซึ่งดูไปแล้วอาจจะดูเยอะไปนิดหน่อย แต่เอาเข้าจริงๆ เพื่อนๆ ไม่จำเป็นต้องเช็คทั้งหมดทุกข้อนี้ทุกวัน เพียงแค่ประมาณ ปีละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอหรือใครมีเวลาว่างมากกว่านั้น การตรวจเช็คบ่อยๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี นอกจากตัวคุณเองจะปลอดภัยแล้ว คนที่คุณรักในบ้าน ก็จะไม่ได้รับอันตรายจากการใช้ไฟฟ้าอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธีจาก การไฟฟ้านครหลวง