อุปกรณ์เซฟตี้ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

อุปกรณ์เซฟตี้ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลถือเป็นมาตรฐานการป้องกันอันตรายสุดท้ายที่ผู้ดำเนินการก่อสร้างต้องจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล เพื่อป้องกันอันตรายและเป็นไปตามที่กำหนดในมาตรฐานความปลอดภัยขณะก่อสร้าง หากเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยขึ้นบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เจ้าของอาคารและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีสิทธิที่จะสั่งให้งานก่อสร้างหยุดทันที และไม่ยินยอมให้ผู้ปฏิบัติงานก่อสร้างเข้าทำงานจนกว่าจะจัดหา หรือสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลอย่างเพียงพอตามที่กำหนดในมาตรฐานด้านความปลดภัยก่อสร้าง

อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล มีรายละเอียดที่กำหนดดังต่อไปนี้

  • หมวกนิรภัย ให้เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยผู้ดำเนินการก่อสร้างต้องจัดให้มีหมวกแข็ง ภายในหมวกต้องรองในหมวกด้วยหนัง พลาสติก ผ้า หรือวัสดุอื่นๆ ที่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันภยันตรายต่อศีรษะให้แก่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าไปในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง
  • ถุงมือผ้าหรือหนัง ต้องมีความเหนียว ไม่ฉีกขาดง่าย มีความยาวหุ้มถึงข้อมือและใช้สวมนิ้วมือได้ทุกนิ้ว เมื่อใส่แล้วสามารถเคลื่อนไหวนิ้วมือได้สะดวก ถ้าเป็นถุงมือยางเฉพาะงานควรมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถป้องกันความเสี่ยง และอันตรายที่แฝงอยู่ในวัสดุที่ผู้ปฏิบัติงานต้องสัมผัส เช่น ถุงมือยางต้องสามารถกันน้ำและกรดได้ด้วย

  • เข็มขัดนิรภัยพร้อมสาย หรือ เชือกช่วยชีวิต ต้องทำด้วยหนังไนล่อน ผ้าฝ้ายถัก หรือวัสดุที่มีคุณสมบัติเหมือนกันและสามารถทนแรงดึงได้ไม่น้อยกว่า 1,150 กิโลกรัม สำหรับส่วนที่รัดเอวต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร

  • รองเท้านิรภัยหัวโลหะ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีหัวโลหะหุ้มส่วนหัวนิ้วเท้าสามารถรับแรงกดได้ 450 กิโลกรัมต่อตารางนิ้ว

  • แว่นตานิรภัยลดแสง (Safety Glass) ช่องกระบังสายตาต้องทำด้วยกระจกสี ซึ่งต้องสามารถลดความเข้มของแสงลง ให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสายตา กรอบของแว่นต้องมีน้ำหนักเบา

  • กระบังหน้าลดแสง (Face Shield) ช่องกระบังสายตาต้องทำด้วยกระจกสี ซึ่งต้องสามารถลดความเข้มของแสงลง ให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสายตา ตัวกรอบของกระบังต้องผลิตจากวัสดุคงรูปที่มีน้ำหนักเบา และต้องไม่ติดไฟง่าย

  • อุปกรณ์ลดเสียงหรือที่อุดหู (Ear Plugs) ต้องทำด้วยพลาสติก ยาง หรือวัสดุอย่างอื่นใช้อุดหูทั้งสองข้าง ต้องสามารถลดระดับเสียงลงได้ไม่น้อยกว่า 15 เดซิเบล

  • ครอบหูลดเสียง (Ear Muffs) ต้องทำด้วยพลาสติก ยาง หรือวัสดุอย่างอื่นใช้อุดหูทั้งสองข้าง ต้องสามารถลดระดับเสียงลงได้ไม่น้อยกว่า 25 เดซิเบล