จัดระเบียบบ้าน ป้องกันอัคคีภัย

จัดระเบียบบ้าน ป้องกันอัคคีภัย

ความเสียหายที่เกิดจากอัคคีภัย เป็นการยากที่จะควบคุมและป้องกันมิให้เกิดอัคคีภัยขึ้นได้อย่างเด็ดขาดและ เสมอไปเพราะ อัคคีภัยนั้นเปรียบเสมือน “ศัตรูที่ไม่รู้จักหลับ” และความประมาทเลินเล่อของผู้ทำงานหรือผู้ประกอบกิจการเป็นจำนวนมาก ย่อมจะเกิดและมีขึ้นได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง จึงเห็นควรที่จะต้องช่วยกันป้องกันอัคคีภัยในการป้องกันอัคคีภัยจะมีสิ่งที่ควรปฏิบัติเฉพาะเรื่องเฉพาะอย่างอีกมากมาย แต่ก็ มีหลักการง่าย ๆ ในการป้องกันอัคคีภัยอยู่ 5 ประการ คือ

  1. การจัดระเบียบเรียบร้อยภายในและภายนอกอาคารให้ดี เช่น การขจัดสิ่งรกรุงรังภายในอาคาร บ้านเรือนให้หมดไป โดยการเก็บรักษาสิ่งที่อาจจะเกิดอัคคีภัยได้ง่ายไว้ให้เป็นสัดส่วน ซึ่งเป็นบันได ขั้นต้นในการป้องกันอัคคีภัย
  2. การตรวจตราซ่อมบำรุงบรรดาสิ่งที่นำมาใช้ในการประกอบกิจการ เช่น สายไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องทำความร้อน ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และความปลอดภัยก็จะป้องกันมิให้เกิดอัคคีภัยได้ดียิ่งขึ้น
  3. อย่าฝ่าฝืนข้อห้ามที่จิตสำนึกควรพึงระวัง เช่น
    – อย่าปล่อยให้เด็กเล่นไฟ
    – อย่าจุดธูปเทียนบูชาพระทิ้งไว้
    – อย่าวางก้นบุหรี่ที่ขอบจานที่เขี่ยบุหรี่หรือขยี้ดับไม่หมด ทำให้พลัดตกจากจาน หรือสูบบุหรี่บนที่นอน
    – อย่าใช้เครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแล้วเสียบปลั๊กจนน้ำแห้ง
    – อย่าเปิดพัดลมแล้วไม่ปิดปล่อยให้หมุนค้างคืนค้างวัน
    – อาจมีเครื่องอำนวยความสุขอย่างอื่น เช่น เปิดโทรทัศน์แล้วลืมปิด
    – วางเครื่องไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็นติดฝาผนังความร้อนระบายออกไม่ได้ตามที่ควรเป็น เครื่องร้อนจนไหม้ตัวเองขึ้น
    – อย่าหมกเศษผ้าขี้ริ้ว วางไม้กวาดดอกหญ้า หรือซุกเศษกระดาษไว้หลังตู้เย็น บางครั้งสัตว์เลี้ยงในอาคารก็คาบเศษสิ่งไม้ใช้ไปสะสมไว้หลังตู้เย็นที่มีไออุ่นอาจ เกิดการคุไหม้ขึ้น
    – อย่าใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือปลอมแปลงคุณภาพ เช่น บาลาสต์ที่ใช้กับ หลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนท์เมื่อเปิดไฟทิ้งไว้อาจร้อน และลุกไหม้ส่วนของอาคารที่ติดอยู่
    – อย่าจุดหรือเผาขยะมูลฝอย หญ้าแห้ง โดยไม่มีคนดูแล เพราะไฟที่ยังไม่ดับเกิดลมพัดคุขึ้นมาอีก มีลูกไฟปลิวไปจุดติดบริเวณใกล้เคียงได้
    – อย่าลืมเสียบปลั๊กไฟฟ้าทิ้งไว้
    – อย่าทิ้งอาคารบ้านเรือนหรือคนชราแลเด็กไว้โดยไม่มีผู้ดูแล
    – อย่าสูบบุหรี่ขณะเติมน้ำมันรถ
    – ดูแลการหุงต้มเมื่อเสร็จการหุงต้มแล้วให้ดับไฟถ้าใช้เตาแก๊สต้องปิดวาล์วเตาแก๊สและถังแก๊สให้เรียบร้อย
    – เครื่องเขียนแบบพิมพ์บางชนิดไวไฟ เช่น กระดาษไข ยาลบกระดาษไข กระดาษแผ่นบางๆ อาจเป็นสื่อสะพานไฟทำให้ เกิดอัคคีภัยติดต่อคุกคามได้
    – ดีดีที สเปรย์ฉีดผม ฉีดใกล้ไฟจะติดไฟและระเบิด
    – เกิดไฟฟ้าลัดวงจรในคืนฝนตกหนัก เพราะสายไฟที่เก่าเปื่อย เมื่อวางทับอยู่กับฝ้าเพดานไม้ผุที่มีความชื้นย่อมเกิดอันตรายจากกระแสไฟฟ้าขึ้นได้
    – เกิดฟ้าผ่าลงที่อาคารขณะมีพายุฝน ถ้าไม่มีสายล่อฟ้าที่ถูกต้องก็ต้อง เกิดเพลิงไหม้ขึ้นได้อย่างแน่นอน
    – เตาแก๊สหุงต้มในครัวเรือนหรือสำนักงานเกิดรั่ว
    – รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เกิดอุบัติเหตุหรือถ่ายเทน้ำมันเบนซิน เกิดการรั่วไหลก็น่าเกิดอัคคีภัยขึ้นได้
    – ในสถานที่บางแห่งมีการเก็บรักษาเคมีที่อาจก่อให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย อาจคุไหม้ขึ้นได้เอง สารเคมีบางชนิด เช่น สีน้ำมันและน้ำมันลินสีด เป็นต้น เมื่อคลุกเคล้ากับเศษผ้าวางทิ้งไว้อาจคุไหม้ขึ้นเอง ในห้องทดลองเคมีของโรงเรียน เคยมีเหตุเกิดจากขวดบรรจุฟอสฟอรัสเหลือง (ขวด) พลัดตกลงมาเกิดแตกลุกไหม้ขึ้น
    – ซ่อมแซมสถานที่ เช่น การลอกสีด้วยเครื่องพ่นไฟ การตัดเชื่อมโลหะด้วยแก๊สหรือไฟฟ้า การทาสีหรือพ่นสีต้องทำด้วยความระมัดระวัง อาจเกิดไฟคุไหม้ขึ้นได้
  4. ความร่วมมือที่ดี จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงนายตรวจป้องกันอัคคีภัยได้ให้ไว้ และ้ปฏิบัติตามข้อห้ามที่วางไว้เพื่อความปลอดภัยจากสถาบันต่างๆ
  5. ประการสุดท้ายจะต้องมีน้ำในตุ่มเตรียมไว้สำหรับสาดรดเพื่อให้อาคารเปียกชุ่มก่อนไฟจะมาถึง เตรียมทรายและเครื่องมือดับเพลิงเคมี ไว้ให้ถูกที่ถูกทางสำหรับดับเพลิงชั้นต้นและต้องรู้จักการใช้ เครื่องดับเพลิงเคมีด้วยและระลึกอยู่เสมอว่าเมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้วจะต้องปฏิบัติดังนี้
    – แจ้งข่าวเพลิงไหม้ทันที โทร. 199 หรือสถานีดับเพลิงสถานีตำรวจใกล้เคียงโดยแบ่งหน้าที่กันทำ
    – ดับเพลิงด้วยเครื่องดับเพลิงที่มีอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ
    – หากดับเพลิงชั้นต้นไม่ได้ให้เปิดประตูหน้าต่างบ้านและอาคารทุกบานและอุดท่อทางต่างๆ ที่อาจเป็นทางผ่านความร้อน ก๊าซ และควันเพลิงเสียด้วย

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดเพลงไหม้

  1. ช่วยคนชรา เด็ก และคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ไปอยู่ที่ปลอดภัย
  2. อย่าใช้ลิฟต์ในขณะเกิดเหต
  3. ขนย้ายเอกสารและทรัพย์สินที่มีค่าเท่าที่จำเป็นตามสถานการณ์และนำไปเก็บกองรวมอย่าให้ฉีกขาดลุ่ยโดยป้องกันมิให้น้ำกระเซ็นเปียก

ข้อควรระวังและวิธีปฏิบัติเมื่อแก๊สรั่ว

  1. เมื่อได้กลิ่นแก๊สปิดวาล์วหัวถังทันที
  2. เปิดประตู หน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเทเพื่อให้แก๊สเจือจาง
  3. ห้ามจุดไม้ขีด ไฟแช็ก เปิด-ปิดสวิตซ์ไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในบริเวณที่มีแก๊สรั่ว
  4. ใช้ไม้กวาดกวาดแก๊สออกทางประตู
  5. ตรวจหาที่รั่วและแก้ไขทันที
  6. หากถังแก๊สมีรอยรั่วให้นำถังแก๊สนั้นไว้ในที่โล่งที่ปลอดภัย
  7. ท่อยางต้องไม่อยู่ใกล้เปลวไฟ
  8. ห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำร้อนแก๊ส ควรมีช่องระบายอากาศเพื่อให้มีออกซิเจนเพียงพอทำอย่างไรให้เกิดเพลิงไหม้มีน้อยที่สุด

จากเบื้องต้นที่กล่าวมาได้เน้นถึงลักษณะและหลักการใช้อุปกรณ์ดับเพลิงเบื้องต้น แต่ทั้งนี้จะเป็นการดีมากหากเราสามารถป้องกัน มิให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นเลย เพราะไม่ว่าเพลิงไหม้จะเกิดขึ้นเล็กน้อยก็จะนำมาซึ่งความเสีย หายทางทรัพย์สินเงินทอง เวลา หรือแม้กระทั่งสุขภาพจิต

ในที่นี้ขอเน้นถึงหลักการปฏิบัติโดยทั่วไปเพื่อความปลอดภัยจากอัคคีภัยในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะแบ่งการปฏิบัติไว้เป็น 2 บริเวณ คือ บริเวณที่มีการผลิตและที่ใช้ในการเก็บสินค้า

บริเวณที่มีการผลิต

  1. ด้านเครื่องจักร
    – ควรมีการตรวจเช็คซ่อมบำรุงเป็นประจำให้อยู่ในสภาพที่ดี
  2. ด้านเครื่องใช้ไฟฟ้า
    – สายไฟฟ้าและอุปกรณ์ต้องอยู่ในสภาพที่ดีและได้รับการตรวจเช็คเป็นประจำ
    – ควรหลีกเลี่ยงการต่อสายไฟฟ้าโดยใช้ผ้าเทปพันหรือการต่อแบบชั่วคราว
    – หลังเลิกงานควรปิดสวิตซ์อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เมนใหญ่
  3. การขจัดแหล่งที่เป็นบ่อเกิดของไฟอื่น ๆ
    – ควรงดมิให้มีการสูบบุหรี่ในบริเวณที่มีการผลิต
    – ความสะอาดเป็นหลักเบื้องต้นของการป้องกันอัคคีภัย บริเวณที่มีการผลิตควรมีถัง หรือถาดไว้รองรับเศษของการผลิตหรือเศษของอื่นๆ และหลังเลิกงานต้องนำไปทิ้งทุกวัน
    – กรรมวิธีใดที่มีความอันตรายในการก่อให้เกิดอัคคีภัยสูงควรจะแยกออกจากส่วนต่าง ๆ และจัดให้มีการป้องกันเฉพาะขึ้น
  4. การจัดเก็บสินค้า
    – สินค้าไม่ว่าวัตถุดิบหรือสำเร็จรูปควรอยู่ในบริเวณการผลิตน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
    – วัตถุไวไฟที่ใช้ในการผลิตต้องถูกจำกัดเพียงเพื่อพอใช้ในหนึ่งวัน หลังเลิกงานต้องนำวัตถุไวไฟนั้นไปเก็บยังที่จัดไว้เฉพาะ
  5. การปฏิบัติหลังเลิกงาน
    หลังเลิกงานทุกวันควรมีการเดินตรวจดูความเรียบร้อย เช่น วัตถุไฟฟ้าได้นำไปเก็บในที่จัดเก็บไว้โดยเฉพาะ อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชิ้นได้ปิดสวิตซ์เรียบร้อยหรือยัง และรวมถึงการทำความสะอาดด้วย

บริเวณที่ใช้เก็บสินค้า

  1. ด้านการจัดเก็บ
    – การเก็บสินค้าควรเก็บอย่างมีระเบียบ ภายในบริเวณจัดเก็บต้องมีช่องทางเดินสินค้า ควรจัดเก็บเป็นล็อก ๆ ในแต่ละเลือกต้องมีช่องทางเดินและปริมาณสินค้าไม่มากเกินไปความสูงไม่เกิน 6 เมตร หรือ 1 เมตร จากเพดานถึงหลังคาและสินค้าควรอยู่ห่างจากแสงไฟ
    – สินค้าควรอยู่บนที่รองรับหรือชั้นวางของ
    – ควรเว้นและมีการขีดเส้นกำหนดแนววางสินค้า
  2. การจับยกสินค้า
    – ของเหลวไวไฟ แก๊สหรือวัตถุไวไฟอื่น ๆ ควรเก็บแยกต่างหากจากสินค้าอื่น ๆ และสามารถทำได้ควรแยกห้องเก็บวัตถุไวไฟ
  3. การขจัดแหล่งที่เป็นบ่อเกิดของไฟอื่น ๆ
    – ควรงดมิให้มีการสูบบุหรี่ในบริเวณที่มีการเก็บสินค้า
    – ไม่ควรมีการผลิตหรือดำเนินการใด ๆ ในบริเวณที่เก็บสินค้า เช่น การอัดแบตเตอรี่
    – ควรรักษาความสะอาดบริเวณที่เก็บสินค้าเป็นประจำ เช่น จากเศษกระดาษที่ใช้ห่อสินค้า
  4. การตรวจเช็คดูแลและความปลอดภัย
    – สายไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าในบริเวณที่เก็บสินค้าควรได้รับการตรวจ เช็คเป็นประจำ
    – บริเวณที่เก็บสินค้าควรปิดล็อคไว้เสมอเมื่อไม่ได้ใช้และห้ามบุคคลภายนอกซึ่งไม่ได้รับอนุญาติเข้าไป
    – อุปกรณ์ดับเพลิงควรติดตั้งบริเวณทางเข้าออก