ถุงมือนิรภัย เลือกใช้แบบไหนดี?

“ถุงมือนิรภัย” เป็นอีก 1 อุปกรณ์ที่มีความสำคัญต่อร่างกายของเราในการป้องกันการบาดเจ็บจากการทำงาน

 

ในการปฏิบัติงานที่ต้องใช้ส่วนของมือ นิ้วมือและแขน ซึ่งอาจเสี่ยงต่ออันตรายจากการถูกวัตถุมีคม บาด ตัด การขูดขีดทำให้ผิวหนังถลอก มีหลายๆกรณีที่ผู้ปฎิบัติงานที่ต้องสูญเสียมือกลายเป็นผู้พิการไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุแบบนี้ขึ้นไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ดังนั้นมือจึงเป็นอีกหนึ่งอวัยวะสำคัญสำหรับทุกๆคน เราควรสวมถุงมือเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดกับการทำงาานของผู้ปฎิบัติงาน เรามารู้จักถุงมือแบบต่างๆ ว่ามีคุณสมบัติแบบไหนและเราควรเลือกใช้แบบไหนกันดีกว่าครับ

 

 

ชนิดของถุงมือนิรภัยและคุณสมบัติต่างๆ
  1. ถุงมือใช้ครั้งเดียวทิ้ง
    เป็นถุงมือที่มีความบางประมาณ 4-8 mil วัตถุประสงค์ของการใช้งานคือเพื่อใช้ครั้งเดียว ในกรณีที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสรับรู้ทางนิ้วและต้องการความคล่องแคล่ว แต่อาจจะไม่ได้มีความทนทานมากนัก ส่วนใหญ่ทำจากยางธรรมชาติหรือยางสังเคราะห์ นิยมใช้ในห้องแล็บ งานบริการทางการแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร (ต้องผ่านมาตรฐาน อย.) หรืองานทำความสะอาด
  2. ถุงมือที่ใช้ได้หลายครั้ง
    นิยมใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์หรือปิโตรเคมี จะมีความหนาประมาณ 18-28 mil มีความสามารถช่วยป้องกันอันตรายและมีความทนทานในระดับหนึ่ง วัสดุที่ใช้ทำส่วนใหญ่จะเป็นยางธรรมชาติหรือพีวีซี
  3. ถุงมือหนัง
    ใช้ป้องกันอันตรายจากประกายไฟ หรือสะเก็ดไฟจากงานเชื่อม ใช้ป้องกันความร้อนได้ในระดับปานกลาง และในบางครั้งอาจใช้สวนทับถุงมือกันไฟฟ้าเพื่อป้องกันการฉีกขาดและยืดอายุการใช้งานของถุงมือกันไฟฟ้า อาจจะทำจากหนังสัตว์หรือหนังฟอกก็ได้
  4. ถุงมืออะลูมิไนซ์
    เป็นถุงมือที่เหมาะจะใช้สำหรับงานเชื่อม งานที่ทำกับเตาไฟ โรงหล่อ หรือหลอมโลหะ เพราะเป็นฉนวนป้องกันความร้อน (โครงสร้างด้านในจะเสริมด้วยวัสดุสังเคราะห์) มีคุณสมบัติต้านทานทั้งความร้อนและความเย็น
  5. ถุงมือกันบาดเส้นใยสแตนเลส
    ใช้สำหรับป้องกันการตัดและการเฉือน ใช้สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับของมีคมโดยเฉพาะ ตัวถุงมือจะทำด้วยเหล็กไร้สนิม เป็นขดลวดเล็กๆถักเป็นรูปถุงมือ ถุงมือเส้นใยสแตนเลสนี้นิยมใช้กับอุตสาหกรรมอาหาร
  6. ถุงมือกันบาดเส้นใยชนิดพิเศษ
    เป็นถุงมือที่ทำจากเส้นใย High Performance Polyethylene (HPPE) ซึ่งมีคุณสมบัติเหนียว ช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดจากการบาดเฉือนได้ดี
  7. ถุงมือผ้าและถุงมือเคลือบชนิดต่างๆ
    เป็นถุงมือใช้งานทั่วไป ช่วยป้องกันฝุ่น สะเก็ด การครูด หรือป้องกันการลื่นในการจับวัตถุ เช่นจับก้อนอิฐ เส้นลวด ไม่สามารถป้องกันอันตรายจะวัตถุที่หยาบ แหลมคมหรือสารเคมีได้ ส่วนใหญ่ถุงมือชนิดนี้จะทำด้วยฝ้าย หรือใยผ้าอื่นๆ

 

คุณลักษณะทั่วไปและขนาดของถุงมือ
การเลือกใช้ถุงมือนั้น นอกจากเราควรจะเลือกใช้ในประเภทที่ตรงกับลักษณะงานของเราแล้ว การเลือกใช้ถุงมือที่มีคุณลักษณะทั่วไปให้ตรงกับตัวเราก็มีความสำคุญไม่แพ้กัน คุณลักษณะที่ว่านี้ก็คือ ความหนา, ความยาวและขนาด ของถุงมือนั้นเอง
  1. ความหนา (Thickness) โดยปกติแล้วการวัดขนาดของถุงมือนั้นจะวัดเป็น Mil (1 Mil= 0.001) การเลือกความหนาขึ้นอยู่กับลักษณะงานของเรา เช่น ถ้าต้องการความยืดหยุ่นและความรู้สึกจากการสัมผัสมากก็เลือกใช้ถุงมือที่มีความหนาน้อย แต่ถ้าต้องการการป้องกันมากขึ้น ต้องการความทนทาน ก็ต้องเลือกที่มีความหนามากขึ้น
  2. ความยาว (length) เป็นความยาวที่วัดตั้งแต่ช่วงฝ่ามือจนถึงปลายของถุงมือ ควรเลือกความยาวให้สัมพันธ์กับระยะหรือตำแหน่งที่ต้องการการป้องกัน ความยาวที่แนะนำโดยทั่วไปคือ
    – ป้องกัน มือ และ ข้อมือ : ความยาวที่แนะนำ คือ 9-14 นิ้ว(23-26 ซม.)
    – ป้องกัน ท่อนแขนช่วงล่าง ถึง ข้อศอก : ความยาวที่แนะนำ คือ 14-18 นิ้ว(36-46 ซม.)
    – ป้องกัน ท่อนแขน ถึง หัวไหล่ : ความยาวที่แนะนำ คือ ประมาณ 31 นิ้ว (76 ซม.)
  3. ขนาด (Size) ควรเลือกใช้ถุงมือที่มีขนาดพอดี ไม่คับหรือไม่หลวมจนเกินไปเพราะถ้าเราใช้ขนาดเล็กเกินไป ถุงมืออาจจะปริแตกหรือฉีกขาดได้ หรือในทางกลับกัน ถ้าเราใช้ถุงมือขนาดใหญ่เกินไปก็อาจจะเกิดการลื่นหลุดจากมือและนำมาซึ่งอุบัติเหตุในการทำงานได้ในที่สุด
“ขนาดของถุงมือ” จะถูกระบุในหน่วยนิ้วตั้งแต่ 6-11 นิ้ว ขึ้นอยู่กับเส้นรอบวงฝ่ามือของผู้ใช้งาน วิธีการวัดก็คือใช้สายวัดลองพันฝ่ามือแล้ววัดดูว่าได้เส้นรอบวงเท่าไหร่และเลือกใช้ตามขนาดนั้นๆ
  • 6-7 นิ้ว = Extra small
  • 7-8 นิ้ว = small
  • 8-9 นิ้ว = Medium
  • 9-10 นิ้ว = Large
  • 10-11 นิ้ว = Extra large

สัญลักษณ์มาตรฐานของถุงมือ
ถุงมือสำหรับใช้ในแต่ละงานจะมีสัญลักษณ์แสดงความสามารถในการป้องกันอันตรายจากความเสี่ยงชนิดต่างๆ โดยหลักๆจะเป็นดังตารางด้านล่างนี้
ถุงมือสำหรับงานประเภทต่างๆ
  1. ถุงมือกันบาด
    ตัวถุงมือจะถักจากเส้นใยกันบาดชนิดพิเศษ ไร้ตะเข็บเส้นด้าย ทนทานการขูดขีดบาดเฉือนได้ดี ส่วนใหญ่ที่ฝ่ามือจะมีการเคลือบสาร PU เพื่อกันลื่น และทำให้การหยิบจับชิ้นงานกระชับ และต้องผ่านมาตรฐาน CE EN388 โดยจะมีการแสดงความสามารถในการต้านทานการบาดเป็นระดับ ตั้งแต่ 1-5

 

2. ถุงมือป้องกันไฟฟ้า

          – จะทำมาจากยางธรรมชาติ มีผิวสัมผัสที่นุ่ม ยืดหยุ่น มีความหนาประมาณ 0.5-3.4 mm
          – ส่วนใหญ่แล้วจะใช้งานคู่กับถุงมือหนัง โดยใช้ถุงมือหนังสวมทับถุงมือยาง เพื่อป้องกันการฉีกขาดให้ถุงมือยาง เนื่องจากถุงมือหนังมีความทนทานต่อการ เจาะ รั่ว ขีดข่วน มากกว่าทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนถุงมือยางบ่อยๆ

 

     3. ถุงมือสำหรับงานทั่วไป
        ถุงมือสำหรับใช้งานทั่วไปมีหลาประเภท และทำมาจากวัสดุต่างๆกัน เคลือบสารต่างๆกัน แล้วแต่ความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น
             3.1 ถุงมือโพลีเอสเตอร์(Polyester) เคลือบด้วยยางธรรมชาติที่ฝ่ามือ ทำให้หยิบจับอุปกรณ์ได้ง่าย กันลื่นได้ดี ทนทานต่อการขูดขีด เหมาะสำหรับงานซ่อมบำรุง และประกอบชิ้นส่วนทั่วไป

 

             3.2 ถุงมือโพลีเอสเตอร์(Polyester) เคลือบด้วยสาร PU ถักจากโพลีเอสเตอร์ ทำให้สวมใส่กระชับ สัมผัสชิ้นงานสะดวก บริเวณฝ่ามือเคลือบด้วยสาร PU กันลื่นได้ดี กระชับมือ “ทำให้หยิบจับอุปกรณ์ชิ้นงานขนาดเล็กได้ง่าย” เหมาะสำหรับงานประกอบชิ้นส่วนเล็กๆ เช่นงาน อิเล็คทรอนิกส์
             3.3 ถุงมือไนลอนเคลือบโฟมไนไตร ถักจากเส้นใย Nylon และบริเวณฝ่ามือเคลือบด้วยโฟมไนไตร ทนนำ้มันและสารเคมีได้ดี หยิบจับอุปกรณ์ได้ง่ายไม่ลื่นหลุด เหมาะกับ งานประกอบชิ้นส่วนทั่วไปและงานซ่อมบำรุง
             3.4 ถุงมือผ้าคอตตอน ผลิตจากผ้าคอตตอน ให้สัมผัสสบายแบบเนื้อผ้า อากาศถ่ายเทสะดวก เหมาะกับงานที่ไม่ต้องการการป้องกันความร้อนหรือป้องกันมือจากของมีคม
     4. ถุงมือป้องกันความร้อน
ออกแบบมาเพื่อใช้ป้องกันความร้อน หรือรังสีความร้อน ส่วนใหญ่จะทำมาจากหนัง,เคฟล่า หรือ อลูมิไนซ์ บุด้วยฉนวนกันความร้อนด้านใน มีระดับความสามารถในการทนความร้อนตั้งแต่ 200-800 องศาเซลเซียส(โดยประมาณ) หรือในกรณีที่ต้องการถุงมือป้องกันความร้อนที่จับชิ้นงานได้แม่นยำ และป้องกันของเหลวซึมผ่านก็มีถุงมือที่ทำจากซิลิโคนให้เลือกใช้เหมือนกัน
     5. ถุงมืองานเชื่อม
เป็นถุงมือที่ใช้ใส่สำหรับทำงานเชื่อมโดยเฉพาะงานเชื่อมอาร์กอน สามารถทนความร้อน ทนสะเก็ดไฟจากการเชื่อม ในบางรุ่นสามารถป้องกันการบาดเฉือนได้ด้วยส่วนใหญ่จะผลิตมาจากหนังวัว (หนังฟูลเกรน,หนังผิว,หนังท้อง หรือหนังชามัวร์)
      6. ถุงมือป้องกันสารเคมี
ใช้เพื่อป้องกันสารเคมีต่างๆเช่น น้ำมัน จาระบี สารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรม สารทำความสะอาด กรด หรือตัวทำละลายต่างๆ ส่วนใหญ่ทำมาจากยางสังเคราะห์ไนไตร หรือ พีวีซี(PVC) มีความอ่อนนุ่ม ยืดหยุ่นได้ ออกแบบมาให้หยิบจับชิ้นงานได้แม่นยำทั้งในเวลาแห้งและเปียก ทนต่อการเสียดสีหรือการแทงทะลุในระดับหนึ่ง
แค่ถุงมือนี่ก็มีให้เลือกใช้กันหลากหลายประเภทแล้ว จะเห็นได้ว่าถุงมือแต่ละประเภทก็ออกแบบมาให้ใช้สำหรับงานต่างๆกัน เพราะฉะนั้น เราก็ควรจะเลือกใช้ให้ถูกกับงานและชนิดของความเสี่ยงของเรานะคะ