แนะวิธีช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุอย่างปลอดภัยในเบื้องต้น

แนะวิธีช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุอย่างปลอดภัยในเบื้องต้น

การช่วยเหลือผู้ประสบ อุบัติเหตุอย่างไม่ถูกวิธี นอกจากจะส่งผลให้ผู้ประสบเหตุได้รับบาดเจ็บรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือกลายเป็นผู้ประสบเหตุเสียเองจากอุบัติเหตุซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีช่วยเหลือและข้อควรระวังในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุในเบื้องต้นอย่างปลอดภัย ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ให้เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินของรถคันที่ประสบเหตุ นำกิ่งไม้มาวาง โบกธง หรือทำสัญลักษณ์อื่นๆ เพื่อเตือนให้รถคันอื่นทราบว่าเกิดอุบัติเหตุ จะได้เพิ่มความระมัดระวังและเปลี่ยนช่องทางได้ทัน พร้อมสังเกตสภาพแวดล้อมโดยรอบ รวมถึงสภาพจราจรบริเวณที่เกิดเหตุ หากมีความปลอดภัย จึงสามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ สำรวจจำนวนผู้ประสบเหตุ อาการบาดเจ็บของแต่ละคน พร้อมโทรแจ้งตำรวจและเรียกรถพยาบาลให้จัดส่งทีมแพทย์ฉุกเฉินที่มีทักษะในการ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ จุดเกิดเหตุอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

ขั้นตอนที่ 2 ประเมินอาการผู้ประสบเหตุว่าได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากน้อยเพียงใด จะได้วางแผนให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือต้องปฐมพยาบาลผู้ประสบเหตุที่หมดสติ โดยเฉพาะผู้ที่หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้นและเสียเลือดมากเป็นลำดับแรก

  • กรณีหัวใจหยุดเต้น ให้ทำการปั๊มหัวใจ โดยนำผู้ประสบเหตุนอนบนพื้นราบและแข็ง จากนั้นให้ใช้มือกดบริเวณกลางหน้าอกใต้ลิ้นปี่ 30 ครั้ง สลับกับการเป่าปากหรือใช้วิธีกดให้หน้าอกยุบประมาณ 1.5 – 2 นิ้ว อย่างแรงและเร็วประมาณ 100 ครั้งต่อนาที โดยทำติดต่อกันจนกว่าผู้ประสบเหตุจะเริ่มหายใจได้เอง แต่อย่ากดแรงเกินไป เพราะอาจทำให้ซี่โครงหักก่อให้เกิดอันตรายมากขึ้น
  • กรณีกระดูกแตกหรือหัก หากบริเวณผิวหนังของผู้ประสบเหตุมีอาการบวมผิดปกติ มีเลือดคั่งหรืออวัยวะมีรูปร่างผิดไปจากปกติ แสดงว่าได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงจนกระดูกหัก ห้ามดึงกระดูกกลับเข้าที่อย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้อาการบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น ให้ทำการเข้าเฝือกชั่วคราวโดยใช้กิ่งไม้ขนาบทั้งสองข้างของอวัยวะส่วนที่หักแล้วใช้ผ้าหรือเชือกมัดให้แน่น เพื่อมิให้กระดูกส่วนที่หักเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยลดอาการบาดเจ็บและป้องกันมิให้ผู้ประสบเหตุพิการได้
  • กรณีบาดแผลและเลือดออกมาก ให้นำผู้ประสบเหตุนอนราบกับพื้น ปลดเสื้อผ้าส่วนที่รัดร่างกายออก และยกส่วนที่เลือดออกให้สูงขึ้น จะช่วยให้เลือดไหลช้าลง จากนั้นให้รีบทำการห้ามเลือดด้วยการนำผ้าสะอาดกดบริเวณบาดแผลโดยตรงหรือใช้ วิธีขันชะเนาะ โดยนำผ้าหรือสายยางรัดบริเวณเหนือบาดแผล เพื่อป้องกันผู้ประสบเหตุเสียเลือดมากจนช็อคหมดสติ
  • กรณีอวัยวะฉีกขาด ให้ใช้ผ้าสะอาดปิดปากแผลและพันรัดห้ามเลือดไว้ จากนั้นให้นำอวัยวะส่วนที่ฉีกขาดใส่ถุงพลาสติกสะอาด พร้อมปิดปากถุงให้แน่นและนำถุงไปแช่ในน้ำแข็ง

ขั้นตอนที่ 3 หลังจากปฐมพยาบาลในเบื้องต้นแล้ว ให้รีบนำผู้ประสบเหตุส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด พร้อมแจ้งรายละเอียด ลักษณะอาการและการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่ทราบ จะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้องในระยะต่อไป

ข้อควรระวังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน ดังนี้

  • หากไม่มีความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้
  • กรณีอุบัติเหตุเสาไฟฟ้าล้ม มีสายไฟฟ้าพาดอยู่ใกล้จุดที่ประสบเหตุ ไม่ควรเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว เพราะอาจถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้
  • หากมีน้ำมันรั่วไหลหรือได้กลิ่นก๊าซ ให้รีบดับเครื่องยนต์และออกห่างจากจุดที่เกิดเหตุในระยะไม่ต่ำกว่า 10 เมตร เพื่อป้องกันอันตรายจากเพลิงไหม้

การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอย่างถูกต้องและปลอดภัยในเบื้องต้น มีวิธีที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ดังนั้น การเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะบรรเทาอาการบาดเจ็บในเบื้องต้นของผู้ประสบเหตุได้ ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ในระดับหนึ่ง

ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย