Safety First โดยการตรวจซ่อมอุปกรณ์และวงจรไฟฟ้าที่ชำรุด

Safety First โดยการตรวจซ่อมอุปกรณ์และวงจรไฟฟ้าที่ชำรุด

การตรวจซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าและวงจรไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากเมื่อเราใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าไปนาน ๆ ย่อมเกิดการชำรุดเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการเสียหายที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การขาดความรู้ ขาดการดูแลเอาใจใส่ แม้กระทั่งเกิดขึ้นเองตามสภาพการใช้งาน แต่เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว เราควรที่จะรีบทำการแก้ไขก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อตัวผู้ใช้หรือต่อทรัพย์สิน เช่น การเกิดไฟฟ้าลัดวงจร การเกิดอัคคีภัย ฯลฯ ดังนั้นเพื่อให้รู้วิธีการปฏิบัติเพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาเท่าที่เราสามารถกระทำได้แล้ว ยังนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ ซึ่งจะมีแนวทางดังต่อไปนี้

  • การสำรวจสภาพความเสียหายของวงจรไฟฟ้า และอุปกรณ์ต่าง ๆ
  • วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นของวงจรและอุปกรณ์ไฟฟ้า
  • ดำเนินการแก้ไขตามสภาพของความเสียหาย

ขั้นตอนในการตรวจซ่อมอุปกรณ์และวงจรไฟฟ้า

มีวิธีตรวจสอบความเสียหายของอุปกรณ์และวงจรไฟฟ้าดังต่อไปนี้

  • ถ้าสายไฟขาดหรือมีรอยฉีกขาดควรทำการแก้ไขโดยตัดและต่อสายใหม่ ถ้าสายเก่าก็ให้เปลี่ยนสายใหม่และทำการต่ออย่างแน่นหนา
  • กรณีหลอดไฟไม่ติดหรือดับ อาจเกิดจากหลอดขาด ให้ทำการเปลี่ยนใหม่ แต่ถ้าไม่ขาดให้ลองตรวจสอบสวิทช์ไฟว่าเสีย สายขาด หรือเกิดการลัดวงจรหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่สามารถแก้ไขได้ ควรทำการเปลี่ยน หรือทำการเช็ควงจรและไล่สายใหม่
  • กรณีปลั๊กหรือเต้ารับ ไม่มีไฟ สายอาจจะขาด อันเกิดจากการลัดวงจร ถ้าตรวจพบให้ต่อวงจรใหม่ให้เรียบร้อยแต่ถ้าไม่ขาดควรไปดูที่คัทเอ้าท์ และฟิวส์ที่แผงควบคุม อาจเกิดจากฟิวส์ขาด หรือถ้าใช้เซอร์กิต เบรคเกอร์ ให้ลองสับสวิทช์ดูใหม่
  • ถ้าไฟดับบ่อย อันเกิดจากแผงควบคุมไฟฟ้าตัดไฟ ลองตรวจดูขนาดของฟิวส์ว่ามีขนาดเล็กไปหรือไม่ควรเปลี่ยนให้มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งานภายในบ้านหรือสถานที่นั้น ๆ แต่ถ้าไม่ใช่ ลองตรวจดูอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น เต้ารับ สวิทช์ไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่กำลังเสียบใช้งานอยู่อาจเกิดความผิดปกติหรือลัดวงจร ให้ทำการแก้ไขโดยเร็ว หรือถ้าตรวจพบว่ามีกระแสไฟฟ้าเกินให้แจ้งต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อจะได้ส่งเจ้าหน้าที่มาทำการแก้ไขต่อไป
  • หากพบว่ามีเสียงดังผิดปกติที่บริเวณ สวิทช์ หรือแผงควบคุมไฟฟ้า อาจเกิดจากหน้าสัมผัส (Contact) ของอุปกรณ์นั้นเกิดความร้อนสูง หรือมีสิ่งแปลกปลอมบริเวณหน้าสัมผัสนั้นให้รีบทำการแก้ไขโดยด่วน
  • บางครั้งอาจพบว่ามีเสียงครางออกมาจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ ลองตรวจสอบดูว่าบัลลาสต์หลวมหรือไม่ และหลอดไฟดับ ๆ ติด ๆ อาจเป็นที่สตาร์ทเตอร์เสื่อมสภาพ ให้ทำการเปลี่ยนใหม่ แต่ถ้าบริเวณขั้วหลอดดำก็ควรเปลี่ยนหลอดใหม่เช่นกัน
  • เพื่อความไม่ประมาท ควรสวมถุงมือ หรือตัดวงจรที่แหล่งจ่ายไฟออกก่อน และเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมในการทำงานนั้น เช่น อาจใช้ไขควงเช็คไฟตรวจดูว่าบริเวณที่จะแก้ไขนั้นมีไฟฟ้าหรือเปล่าไม่ควรทำงานในขณะที่มีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่
  • อุปกรณ์ไฟฟ้าบางชนิด เราไม่สามารถทำการแก้ไขเองได้ ไม่ควรเสี่ยงที่จะดำเนินการเองเพราะอาจเกิดความผิดพลาด ควรให้ช่างผู้เชี่ยวชาญมาทำการแก้ไข
  • การแก้ไขอุปกรณ์และวงจรไฟฟ้า อย่าทำอย่างลวก ๆ ให้ตรวจสอบอย่างละเอียด และพิจารณาตามวิธีการที่ได้ศึกษามาอย่างถูกต้อง สิ่งที่สำคัญต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำหนด